คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีมีพัฒนาการมาจากคณะวิชาคณะ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูกาญจนบุรี ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2520 เรื่องการแบ่งส่วนราชการในวิทยาลัยครูกาญจนบุรี กำหนดให้คณะวิชานี้มี 11 ภาควิชา ได้แก่

1) ภาควิชาภาษาไทย
2) ภาควิชาภาษาอังกฤษ
3) ภาควิชาบรรณรักษศาสตร์
4) ภาควิชาศิลปศึกษา
5) ภาควิชาดนตรีศึกษา
6) ภาควิชานาฎศิลป์
7) ภาควิชาปรัชญาและศาสนา
8) ภาควิชาสังคมวิทยา
9) ภาควิชาเศรษฐศาสตร์และการเมือง
10) ภาควิชาประวัติศาสตร์
11) ภาควิชาภูมิศาสตร์

    ในระยะเริ่มต้นยังขาดภาควิชาเศรษฐศาสตร์และการเมือง และภาควิชาปรัชญาและศาสนา แต่ดำเนินการได้ครบถ้วนในปี พ.ศ. 2522
    สำหรับโครงสร้างการบริหารงานมีรูปแบบเป็นคณะผู้บริหารคณะวิชา ผู้บริหารเรียกว่า หัวหน้า คณะวิชา
และส่วนภาควิชามีผู้บริหารภาควิชาเรียกว่าหัวหน้าภาควิชา หัวหน้าคณะวิชาคนแรกคือ นายธนพร หลักคงคา
ต่อมาในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2522 มีการจัดตั้งสำนักงานคณะวิชาในช่วงที่ นางเยาวมาลย์ กาญจนาศูนย์
เป็นหัวหน้าคณะวิชา สำนักงานคณะวิชาตั้งอยู่ที่บริเวณชั้น 1 อาคาร 2 ซึ่งเป็นที่สถานที่ตั้งสำนักงานคณบดี
ในปัจจุบัน
    สำหรับการจัดการศึกษาเริ่มแรกเป็นการจัดการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.)
ตามหลักสูตรสภาการฝึกหัดครู พุทธศักราช 2519 โดยคณะวิชาทั้งหมดของวิทยาลัยครูกาญจนบุรี ในขณะนั้น ได้แก่ คณะวิชาครุศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะวิชาวิทยาศาสตร์ ร่วมกันรับผิดชอบ ทั้งนี้ในส่วนของคณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์รับผิดชอบ วิชาพื้นฐานในกลุ่มมนุษย์ศาสตร์กลุ่มวิชาภาษา และกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ ต่อมาในปีการศึกษา 2521 ได้เริ่มเปิดวิชาเอก 2 วิชาคือ ภาษาไทยและสังคมศึกษา และรับผิดชอบการสอนวิชาเอกเฉพาะเพิ่มขึ้นจากเดิม
    ในปีการศึกษา 2522 ได้เริ่มเปิดสอนประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) วิชาเอกภาษาอังกฤษ รวมทั้งเปิดการสอนวิชาโทให้กับวิชาอื่นตามความต้องการของนักศึกษา 5 วิชา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ
นาฎศิลป์ ศิลปและบรรณรักษศาสตร์ นอกจากนี้ยังเริ่มต้นเปิดการสอนปริญญาตรี ครุศาสตร์หลักสูตร 2 ปี หลังอนุปริญญาสำหรับครูประจำการจากจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี ในวิชาเอกภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา
    ต่อมาในปีการศึกษา 2523 เริ่มเปิดสอนระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิตหลักสูตร 4 ปี ในวิชาเอกภาษาไทย ส่วนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) ได้เริ่มเปิดวิชาเอกบรรณารักษ์และวิชาเอกศิลปศึกษา
   ถัดจากนั้น ได้เริ่มเปิดสอนระดับปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิตหลักสูตร 4 ปี ในวิชาเอกอื่นๆ เช่น ปีการศึกษา 2524 เปิดสอนวิชาเอกภาษาอังกฤษ ปีการศึกษา 2525 เปิดสอนวิชาเอกบรรณารักษ์ และ สังคมศึกษา 
ปีการศึกษา 2526 เปิดสอนวิชาเอกนาฏศิลป์และศิลปศึกษา เนื่องจากความต้องการครูของประเทศเริ่มลดลง
แต่ทรัพยากรของคณะวิชา และวิทยาลัยครู มีมากขึ้น ในปีการศึกษา 2538 ภาควิชาที่อยู่ในกลุ่มสังคมศาสตร์
ได้ร่วมมือกันเปิดสอนสาขาศิลปศาสตร์ ระดับอนุปริญญา วิชาเอกการพัฒนาชุมชน เป็นครั้งแรก โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 กำหนดให้วิทยาลัยครูเป็นสถาบันการศึกษา
และวิจัย มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการในสาขาวิชาต่างๆ ตามความต้องการของท้องถิ่น”
    ในปีพ.ศ.2538 มีการพัฒนาวิทยาลัยครู มาเป็นสถาบันราชภัฏกาญจนบุรี ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538 กฎหมายฉบับนี้ได้ยกวิทยฐานะจากคณะวิชามนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เป็น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีส่วนราชการที่สำคัญคือคณะ และภาควิชา 11 ภาควิชา ได้แก่

1) ภาควิชาภาษาไทย
2) ภาควิชาภาษาต่างประเทศ
3) ภาควิชาบรรณรักษศาสตร์
4) ภาควิชาศิลปศึกษา
5) ภาควิชาดนตรีศึกษา
6) ภาควิชานาฎศิลป์
7) ภาควิชาปรัชญาและศาสนา
8) ภาควิชาสังคมวิทยา
9) ภาควิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
10) ภาควิชาประวัติศาสตร์
11) ภาควิชาภูมิศาสตร์

    นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้อำนาจสถาบันราชภัฏ สามารถเปิดการสอนในระดับสูงกว่าปริญญาตรี ได้ด้วย
    ในส่วนผู้บริหารมีผู้บริหาร คือ คณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชาและรองหัวหน้าภาควิชา คณบดีคนแรก
คือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณฑล คงแถวทอง ต่อมาในปี 2541 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจากภาควิชามาเป็นโปรแกรมวิชาเพื่อรวบรวมทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้สอยร่วมกัน คณะผู้บริหารของคณะประกอบด้วยคณบดี รองคณบดี ประธานโปรแกรมวิชา หัวหน้าศูนย์ภาษา และหัวหน้าสำนักงานคณบดี
    ด้านการจัดการศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ได้ขยายการเปิดสอนในระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิตในวิชาเอกอื่นๆ เพิ่มขึ้นตลอดมา เช่น วัฒนธรรมศึกษา ปีการศึกษา 2545 มีการเปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรให้แก่บัณฑิตกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและร่วมกับสถาบันเปิดการสอนโครงการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) โปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์และโปรแกรมวิชาพัฒนาชุมชน ทั้งในสถาบันและที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในปีการศึกษา 2546 มีการเปิดสอนภาษาญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังร่วมมือกับคณะครุศาสตร์เปิดสอนให้กับครูในโครงการพัฒนาครูประจำการที่ยังไม่ได้รับวุฒิปริญญาตรี
    สำหรับการจัดการศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี ในปีการศึกษา 2541 มีการเปิดสอนในระดับปริญญาโทหลักสูตรแรกของสถาบันราชภัฏกาญจนบุรี ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา ต่อมาในปีการศึกษา 2546 เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบรรณรักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
    นอกจากการจัดการศึกษาแล้ว มีการให้บริการวิชาการแก่ประชาชนในท้องถิ่น เช่น การจัดกิจกรรมค่ายภาษาอังกฤษ การสอนภาษาอังกฤษให้กับพนักงานโรงแรมและผู้ปฏิบัติงานด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น
    ต่อมาปี พ.ศ. 2547 มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ยกฐานะสถาบัน ราชภัฏทุกแห่งเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ และแบ่งการบริหารวิชาการเป็นโปรแกรมวิชา และสาขาวิชา ใน ปีพ.ศ. 2550 โดยมีประธานสาขาวิชาเป็นผู้รับผิดชอบงานในสาขา ในปีพ.ศ. 2550 มีสาขาวิชาดังนี้

1 สาขาวิชาศิลปกรรม
2 สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น
3 สาขาวิชาดนตรี
4 สาขาวิชานิติศาสตร์
5 สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์
6 สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน
7 สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
8 สาขาวิชาภาษาไทย
9 สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
10 สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ
11 สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจท่องเที่ยว

    ในปีพ.ศ. 2550 คณะเปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ และหลักสูตรประกาศนียบัตรภาษาไทยให้กับนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาในมณฑล กว่างซี สาธารณรัฐประชาชนจีน และร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดการศึกษาหลักสูตร รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (สาขาการปกครองท้องถิ่น) ให้กับสมาชิก ผู้บริหาร ข้าราชการประจำและลูกจ้างในสังกัดราชการส่วนท้องถิ่นและหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (สาขาการคลังท้องถิ่น)
    ในปี พ.ศ.2552 กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศกระทรวงเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 โดยมีวัตถุประสงค์ให้สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนกำหนดและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ให้สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ในปีการศึกษา 2555 คณะได้เปิดสอนรวมทั้งสิ้น 5 หลักสูตรที่เป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา แยกออกเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีจำนวน 4 หลักสูตร คือ

1 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ
2 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรี
3 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการพัฒนาชุมชน
4 หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

    และหลักสูตรระดับปริญญาโท จำนวน 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา
    ในปี พ.ศ.2557 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ดำเนินการ ปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาตรีจำนวน 2 หลักสูตร คือ
1. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย
2. หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์
    และได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรี เป็นหลักสูตรใหม่ จำนวน 1 หลักสูตร คือ หลักสูตร ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาจีน
    ในปัจจุบัน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี แบ่งการบริหารวิชาการเป็นสาขาวิชา โดยมีประธานสาขาวิชาเป็นผู้รับผิดชอบงาน
ในสาขา โดยมี 8 สาขาวิชาดังนี้

1 สาขาวิชาดนตรี
2 สาขาวิชานิติศาสตร์
3 สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน
4 สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
5 สาขาวิชาภาษาไทย
6 สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ
7 สาขาวิชาภาษาจีน
8 สาขาวิชาการออกแบบดิจิทัลคอนเทนต์

ปรัชญา
“สร้างโอกาสทางการศึกษา พัฒนาท้องถิ่น บนพื้นฐานความรู้คู่คุณธรรม ”

วิสัยทัศน์
พัฒนาศิลปะวิทยาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สู่สากล และสร้างประโยชน์เชิงพัฒนาชุมชนและสังคมด้วยฐานการวิจัย

พันธกิจ
พันธกิจที่ 1 ด้านวิชาการ
พันธกิจที่ 2 ด้านบริการสังคม
พันธกิจที่ 3 ด้านบริหารจัดการ

ยุทธศาสตร์และเป้าประสงค์
ประเด็นยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนานักศึกษาให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการตอบสนองความต้องการของสังคม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนานักศึกษาให้เป็นคนดี มีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาบัณฑิตให้มีทักษะและสมรรถนะสากล
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีคุณวุฒิ และทักษะทางวิชาการและวิชาชีพ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริม สนับสนุนอาจารย์และบุคลากรให้ทำงานวิจัยที่มีคุณภาพและสามารถเผยแพร่ในรูปแบบที่เป็นสากล
ยุทธศาสตร์ที่ 6 สนับสนุนอาจารย์ทำวิจัยเชิงพื้นที่ร่วมกับชุมชนในการต่อยอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
ยุทธศาสตร์ที่ 7 เผยแพร่ความรู้และให้บริการทางวิชากรตามความเชี่ยวชาญของอาจารย์
ยุทธศาสตร์ที่ 8 จัดให้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นแหล่งเรียนรู้และฟื้นฟูศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น
ยุทธศาสตร์ที่ 9 การบริหารงานยึดหลักธรรมาภิบาล
ยุทธศาสตร์ที่ 10 การบริหารจัดการเน้นให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

เป้าประสงค์ (Goal)
เป้าประสงค์ที่ 1 บัณฑิตมีคุณภาพ เป็นพลเมืองที่ดี มีทักษะและสมรรถนะสากล นำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน การพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตได้อย่างเหมาะสม
เป้าประสงค์ที่ 2 ผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรมได้รับการเผยแพร่และนำไปใช้ประโยชน์ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
เป้าประสงค์ที่ 3 ชุมชนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากการให้บริการวิชาการที่สนองต่อความต้องการการแก้ปัญหาและการพัฒนาท้องถิ่น
เป้าประสงค์ที่ 4 นักศึกษา ชุมชนเห็นคุณค่าละนำศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และชาติพันธุ์ มายกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
เป้าประสงค์ที่ 5 คณะมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

อัตลักษณ์และเอกลักษณ์
อัตลักษณ์ของนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ประพฤติดี มีจิตอาสา รักษาศิลปะและวัฒนธรรม

อัตลักษณ์ของบัณฑิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
คุณธรรมนำทักษะชีวิต ทักษะทางภาษา (ผ่านการสอบ TOEIC หรือ EXIT EXAM และวิชาภาษาไทย ทุกสาขา) ทักษะทางวิชาการและมีความสามัคคี

อัตลักษณ์ของบุคลากรคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สำนึกดี มีความสร้างสรรค์ มุ่งมั่นต่อการพัฒนาองค์กร

เอกลักษณ์ของคณะ
เป็นสังคมสหวิทยาการ

Loading...

Line icon1  Line icon2

FB-icon1.png  FB icon2

Phone icon1   Phone icon2

email  Email icon3